พาท่องเที่ยววัฒนธรรมในจังหวัดภูเก็ต
1.วัดฉลอง หรือ วัดไชยธาราราม
เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดภูเก็ต ไม่มีบันทึกแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีชื่อปรากฏในหลักฐานบันทึกสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดไชยธาราราม
ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อ หลวงพ่อแช่ม หรือ พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ผู้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ มีชื่อเสียงในศาสตร์วิชาด้านการปรุงสมุนไพรและรักษาโรค รวมถึงเข้าเฝือกผู้ป่วยกระดูกหัก
วัดฉลองถือเป็นวัดที่สวยงามที่สุดในเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะ พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ เจดีย์ที่มีสถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงาม ด้านข้างผนังแต่ละชั้นมีภาพวาดพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าที่งดงามยิ่ง
2.วัดพระใหญ่
ที่สุดแห่งความสวยงามอลังการอันเป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาด ด้วยการไปสักการะ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี หรือ พระใหญ่เมืองภูเก็ต พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต” กว่า 135 ตัน จากพม่า ศิลปะร่วมสมัยอันทรงคุณค่าและโดดเด่นเป็นสง่าด้วยความสูงถึง 45 เมตร เป็นองค์พระที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะภูเก็ต ประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานยอดเขานาคเกิด ตำบลกะรน
วัดนี้ใช้เวลาสร้างยาวนานเกือบทศวรรษ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของคนในชุมชนที่ร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้าง เพื่อให้เกิดเป็นสถานที่เคารพสักการะ เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวภูเก็ต และตั้งใจให้เป็นพุทธอุทยานที่มีความร่มรื่นสวยงาม
เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่การมาเยือน เพื่อชื่นชมทัศนียภาพที่สวยงามของเวิ้งหาดกะตะ แหลมพรหมเทพ และเกาะแก้วพิสดาร ในแบบ 360 องศา
3.พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
มุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการได้ระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษที่ได้สร้างแนวทางไว้ให้ลูกหลาน ให้ชาวภูเก็ตได้ภาคภูมิใจและร่วมกันรักษาไว้เป็นสมบัติของส่วนรวมต่อไป
อาคารพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 ปัจจุบันผ่านการบูรณะให้มีสภาพงดงามสมบูรณ์สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน โดยในส่วนของนิทรรศการจะมีทั้งสิ้น 13 ส่วน
4.แหลมพรมเทพ
สถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูเก็ต เป็นจุดชมทิวทัศน์และพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม อยู่ตอนใต้สุดของเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเรียกว่า “แหลมเจ้า” จากริมหน้าผามีแนวต้นตาลลาดลงสู่ปลายแหลมที่เป็นโขดหิน
ซึ่งจะเห็นเกาะแก้วพิสดารอยู่ทางด้านหน้า นอกจากนั้นยังมี “ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ” แสงไฟจากประภาคารสามารถมองเห็นไกลถึง 39 กิโลเมตร ภายในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสร้างประภาคาร การรักษาเวลามาตรฐาน การคำนวณและแสดงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตก บนยอดประภาคารเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่กว้างไกลสุดสายตา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น